ประวัตินาฬิกา Audemars Piguet

Audemars Piguet logo. (PRNewsFoto/Audemars Piguet)

ประวัติศาสตร์แรกเริ่มของ Audemars Piguet เริ่มต้นตั้งแต่ในปี 1875 ด้วยความร่วมมือของช่างนาฬิกาวัย 23 ปี จูลส์-หลุยส์ โอเดอะมาร์ส (Jules-Louis Audemars) และหุ้นส่วนคนสำคัญ เอ็ดวาร์ด -ออกัสต์ ปิเกต์ (Edward August Piguet) ที่เพิ่งจะอายุแค่ 21 ปี แต่เมื่อความต้องการของทั้งคู่นั้นสอดคล้องกัน ทำให้หลังจากพบกันได้เพียงไม่นาน ทั้งคู่ในฐานะช่างนาฬิกามีชื่อในระดับท้องถิ่นแห่ง วัลเลย์ เดอ ฌูช์ ก็ตัดสินใจร่วมกันตั้งบริษัทที่แรกๆนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม Audemars Piguet et Cie โดยมี Jules – Louis Audemars เป็นผู้ดูแลเรื่องการผลิตและทางด้านเทคนิค ส่วน Edward August Piguet นั้นดูแลงานด้านการขายและการตลาดที่หมั่นออกพบลูกค้าผ่านหลายเมืองสำคัญและอีกหลายทวีปอย่างมุ่งมั่น

แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในระยะแรกๆซึ่งแท้จริงแล้ว บริษัทยังไม่ได้จดเครื่องหมายการค้าจนกระทั่งในปี 1882 ด้วยซ้ำ และบริษัทก็ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี 1889 อย่างไรก็ตาม Audemars Piguet et Cie กลับเป็นบริษัทใหญ่ที่มีจำนวนลูกจ้างสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมผู้ผลิตนาฬิกาในรัฐ Vaud ซึ่งเป็นผลจากความมุ่งมั่นของบุคคลทั้งสองที่มีจุดมุ่งหมายในการผลิตนาฬิกาคุณภาพสูงมีความสลับซับซ้อนและมีความเที่ยงตรงสูงสุดจนประสบความสำเร็จในที่สุด

audemars_piguet

หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ไม่นานทั้งคู่จึงได้ตั้งสำนักงานสาขาอยู่ในกรุงเจนีวาและตัดสินใจผลิตชิ้นส่วนและประกอบเรือนนาฬิกาทั้งหมดในโรงงานของตัวเอง ซึ่งทำให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพของนาฬิกาได้อย่างเคร่งครัด และมั่นใจได้ว่ามีเฉพาะนาฬิกาคุณภาพสูงได้มาตราฐานเท่านั้นที่จะสามารถส่งออกจากโรงงานของพวกเขาได้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าในระหว่างช่วงปี 1894-1899 มีนาฬิกาเพียง 1,208 เรือนเท่านั้นที่ได้รับการผลิต ซึ่งในจำนวนนี้บางส่วนนั้นเป็นนาฬิกาที่มีความสลับซับซ้อนและทันสมัยสูงสุด ซึ่งก็รวมถึงนาฬิกาแห่งตำนานรุ่น ‘กรองด์ คอมพลิเคชั่น ‘(Grande Complication) ที่ยังคงมีการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากชื่อเสียงและการได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วโลก เพราะนอกจากบอกเวลาตามปกติแล้ว Grande Complication รุ่นนี้ ยังมีระบบระฆังบอกนาที บอกปฏิทินตลอดชีพ และระบบโครโนกราฟ สอดแทรกมาให้อย่างครบครันด้วย

ประมาณปี 1914 Audemars Piguet ได้ตั้งโครงการพัฒนานาฬิกาให้มีความสลับซับซ้อนทำให้ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ในการผลิตอย่างต่อเนื่องก่อนที่นาฬิกาจะถูกส่งไปยังผู้นำเข้า Guignard & Golay ในกรุงลอนดอน ซึ่งนาฬิกาที่กล่าวถึงนี้ก็คือนาฬิกาพกที่มีสองหน้าปัดและกลไกทูร์บิญองบอกนาทีและมีทั้งฟังก์ชั่นตีระฆังบอกนาที ระบบจับเวลาโครโนกราฟ ระบบปฏิทินตลอดชีพ เวลาข้างขึ้น – ข้างแรมของพระจันทร์ และบอกพลังสำรองของลานส่วนบน อีกหน้าปัดหนึ่งนั้นแสดงเวลาเพิ่มเติมแบบ 24 ชั่วโมง ที่ชี้เวลาด้วยเข็ม 2 เข็ม พร้อมระบบพิเศษที่ทำให้สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้าบนกรุงลอนดอนทั้งกลางวันและกลางคืนผ่านช่องเปิดรูปวงรีบนหน้าปัดด้านหลังซึ่งบนท้องฟ้านั้นมีดาวจำนวน 315 ดวงสลักไว้บนพื้นหน้าปัดชุบทองและลงยาด้วยสีฟ้า ทั้งยังสลักชื่อของกลุ่มดาวเอาไว้อย่างชัดเจน การสร้างสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะเป็นไปได้นี้ทำให้ชื่อของ Audemars Piguet เป็นที่รู้จักและถูกกล่าวขานกันมากขึ้น
แต่รายทางของตำนานก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เมื่อกระแสความสำเร็จที่มีอย่างต่อเนื่องของ Audemars Piguet ชะงักงันในปี 1929 ที่บริษัทขายนาฬิกาได้เพียง 737 เรือนเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากยอดขายในปี 1920 ที่มีอยู่ราว 2,000 เรือนอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากปัญหาทางด้านการตลาดและวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ทำให้ลูกค้าผู้มีกำลังซื้อนาฬิกาแพงๆลดลง ในที่สุด Audemars Piguet จำต้องปลดพนักงานและช่างนาฬิกาออกอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 1932 มีนาฬิกาเพียง 2 เรือนเท่านั้นที่บริษัทผลิตออกมา

แม้จะล้มลุกคลุกคลาน แต่ไม่เคยคิดยอมแพ้ ในที่สุดบริษัทก็สามารถกลับฟื้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะความสำเร็จของระบบโครโนกราฟที่พวกเขาคิดค้นขึ้นและการสร้างนาฬิกาที่มีความบางพิเศษ (ซึ่งใช้กลไกขนาด 9 ligne calibre 2003) และในระหว่างทศวรรษ 1950 และ 1960 ยอดขายของบริษัทก็กลับพุ่งขึ้นอีกครั้ง ต่อมาในปี 1967 Audemars Piguet ได้ร่วมมือกับเจเกอร์ เลอคูลทร์ ( Jaeger LeCoultre) สร้างสถิติใหม่ด้วยการประดิษฐ์กลไกอัตโนมัติที่บางที่สุดเพียง 2.45 มิลลิเมตร ซึ่งมีโรเตอร์กลางทำจากทองคำ 21K และเพียง 3 ปีต่อมมาคือในปี 1970 ช่างนาฬิกาของ Audemars Piguet ก็ได้สร้างกลไกบางที่สุดในโลกหนาเพียง 3.05 มิลลิเมตรที่สามารถรวมเอาฟังก์ชั่นแสดงวันที่และโรเตอร์กลางซึ่งทำด้วยทองมาไว้ด้วยกัน

และปีที่สำคัญมากแห่งประวัติศาสตร์ Audemars Piguet ก็คือปี 1972 ที่บริษัทได้สร้างนาฬิการุ่นยอดนิยมและยังมีชื่อเสียงอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบันนั่นคือ นาฬิการุ่น ” รอยัล โอ็ก” (Royal Oak) ซึ่งได้รับการออกแบบโดยผู้เป็นตำนานแห่งช่างนาฬิกา เฌรัลด์ ฌองตา กับตัวเรือนทรงแปดเหลี่ยมขอบตัวเรือนทำจากเหล็กตกแต่งด้วยสกรูแบนรูปหกเหลี่ยมฝังเข้าไปกลายเป็นดีไซน์ที่แสดงความสมดุลระหว่างพลังและความหรูหรา และหลังจากการเปิดตัวภายในงาน European Watchmaking Fair ในปี 1972 ด้วยราคาสูงถึง 3,300 ฟรังก์สวิส ก็ยิ่งทำให้ Audemars Piguet กลับมามีชื่อเสียงเกินความคาดหมายของผู้สร้างนาฬิกาเรือนนี้เสียอีก

ปัจจุบัน Audemars Piguet ยังคงเป็นที่หนึ่งในฐานะผู้ผลิตเครื่องบอกเวลาระดับสูงของโลก ทุกชิ้นส่วนกลไกยังคงทำและประกอบขึ้นด้วยมือตามประเพณีตกทอดในการสร้างนาฬิกา และวันนี้ชื่อของ Audemars Piguet ก็มาเป็นอันดับ 3 รองจาก Patek Philippe และ Vacheron Constantin ในฐานะนาฬิกาที่ประณีตที่สุด สรรค์สร้างจากโรงงานซึ่งมีพนักงานรวม 320 คน และเป็นช่างนาฬิกามากกว่า 120 คน ปัจจุบันผลิตนาฬิกาได้มากกว่า 20,000 เรือน (ในปี 2004) และมีรายได้จากยอดขายกว่า 240 ล้านฟรังก์สวิส